วันจันทร์ที่ 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

นโยบาย รมต.ศึกษาคนใหม่

                                 เริ่มต้นปีงบประมาณ 2556 พวกเราชาวกระทรวงศึกษาธิการก็ได้ทราบข่าวที่น่ายินดีที่นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา ได้รับการโปรดเกล้าแต่งตั้งเป็นรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ  นายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ  ในด้านการบริหารราชการหน่วยงานหลักของระทรวงศึกษาธิการในภาพรวมกว้าง ๆ นั้น นายพงศ์เทพ  เทพกาญจนา จะกำกับดูแล สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา (สกสค.) และหน่วยงานในกำกับดูแลของสำนักงานปลัด ศธ. ได้แก่ สำนักบริหารงานส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) เป็นต้น รวมทั้งหน่วยงานที่อยู่ภายใต้กำกับดูแลของ ศธ. เช่น สถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ)  ด้านนายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้รับมอบอำนาจให้บริหารราชการเกี่ยวกับงานในอำนาจหน้าที่ของส่วนราชการ สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (สำนักงาน กศน.) รับผิดชอบสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.)โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ สำนักงานเลขาธิการคุรุสภา  
                                เรามากล่าวถึงทิศทางการพัฒนาการศึกษาขั้นพื้นฐานบ้าง ขณะนี้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษา ขั้นพื้นฐานได้กำหนดนโยบายและกรอบทิศทางการพัฒนาที่ชัดเจนแล้ว จึงสามารถที่จะนำมาเผยแพร่และบอกกล่าวกันได้ ดังนี้ กลยุทธ์ประจำปีงบประมาณ 2556 จำนวน 6 กลยุทธ์คือ
กลยุทธ์ที่ 1 พัฒนาคุณภาพและมาตรฐานการศึกษาทุกระดับตามหลักสูตรและส่งเสริมความสามารถด้านเทคโนโลยีเพื่อเป็นเครื่องมือในการเรียนรู้ (Raising the bar)
กลยุทธ์ที่ 2 ปลูกฝังคุณธรรม ความสำนึกในความเป็นชาติไทย และวิถีชีวิตตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง (Moral and Ethics)
กลยุทธ์ที่ 3 ขยายโอกาสทางการศึกษาให้ทั่วถึงและลดความเหลื่อมล้ำ ผู้เรียนได้รับโอกาสในการพัฒนาเต็มตามศักยภาพ (Filling the gap)
กลยุทธ์ที่ 4 พัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษาทั้งระบบ ให้สามารถจัดกิจกรรมการเรียนรู้อย่างมีประสิทธิภาพ (Teacher Enhancement)
กลยุทธ์ที่ 5 พัฒนาการบริหารจัดการศึกษา ให้มีประสิทธิภาพตามหลักธรรมาภิบาล เน้นการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนในการส่งเสริม สนับสนุนการจัดการศึกษา (Good Governance)
กลยุทธ์ที่ 6 พัฒนาการศึกษาในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจจังหวัดชายแดนภาคใต้(Education for Peace and Harmony)

จุดเน้นสำคัญ 10 จุดเน้น ดังนี้
1. นักเรียนมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนกลุ่มสาระการเรียนรู้หลักเพิ่มขึ้น โดยผลการทดสอบระดับชาติ (O-NET) เพิ่มขึ้นอย่างน้อยร้อยละ 3 (Student Achievement)
2. เด็กปฐมวัยทุกคนได้รับการเตรียมความพร้อมด้านร่างกาย อารมณ์ สังคม และสติปัญญาตามหลักสูตรการศึกษาปฐมวัยอย่างมีคุณภาพ (EQ : Emotion Quotient)
3. นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 ทุกคนอ่านออก เขียนได้ คิดเลขเป็น และนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ทุกคนอ่านคล่อง เขียนคล่อง คิดเลขคล่อง และมีทักษะการคิดขั้นพื้นฐาน ( Literacy ,Numeracy & Reasoning Abilities)
4. นักเรียนทุกคนมีความสำนึกในความเป็นไทย มีจิตสาธารณะ และอยู่อย่างพอเพียง(Sufficiency & Public Mind)
5. นักเรียนที่มีความสามารถด้านคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และศิลปศาสตร์ทุกคนได้รับการส่งเสริมให้มีความเป็นเลิศ (Excel to Excellence)
6. ประชากรวัยเรียนทุกคนมีโอกาสเข้าถึงบริการทางการศึกษาด้วยทางเลือกที่หลากหลาย เพื่อลดอัตราเด็กตกหล่น ออกกลางคัน ส่งเสริมการเรียนต่อหรือประกอบอาชีพ (Alternative Access)
7. นักเรียน ครู และบุคลากรทางการศึกษาทุกคน และสถานศึกษาทุกแห่ง ในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจจังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้รับการพัฒนาอย่างมีคุณภาพ สอดคล้องกับอัตลักษณ์ของตน(Southern – Border Provinces)
8. นักเรียน ครู และบุคลากรทางการศึกษาทุกคน มีความพร้อมเข้าสู่ประชาคมอาเซียนมีภูมิคุ้มกันต่อการเปลี่ยนแปลงในสังคมพหุวัฒนธรรม (ASEAN Community)
9. สถานศึกษาทุกแห่งได้รับการพัฒนาอย่างเต็มศักยภาพ มีระบบประกันคุณภาพภายในที่เข้มแข็งและได้รับการรับรองจากการประเมินคุณภาพภายนอก (Quality Schools)
10. สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาทุกแห่งมีคุณภาพตามมาตรฐานของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (Effective Service Areas)
ส่วนนโยบายและกรอบทิศทางพัฒนาการศึกษาของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาลำปาง เขต 1 นั้นหากคณะกรรมการเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาลำปาง เขต 1 พิจารณาเห็นชอบแล้วจะนำมาประชาสัมพันธ์ให้ทราบในคราวต่อไป

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น