วันอาทิตย์ที่ 9 ธันวาคม พ.ศ. 2555

ประเทศไทย : ความเป็นหนึ่งในประเทศสมาชิกอาเซียน

                         10 ประเทศสมาชิกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กำลังจะก้าวเข้าสู่ประชาคมอาเซียน (ASEAN Community) ในปี 2558 โดยมีเป้าหมาย 3 เสาหลัก คือ ประชาคมความมั่นคงอาเซียน(ASEAN Security Community : ASC) ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน( ASEAN Economic community : AEC) และประชาคมสังคมและ วัฒนธรรม(ASEAN Socio-Cultural Community : ASCC)  แต่เนื่องจากทั้ง 10 ประเทศสมาชิก ต่างก็มีเชื้อชาติ ศาสนา ภาษา วัฒนธรรม  สังคม ค่านิยม  พฤติกรรมและรสนิยมที่แตกต่างกัน  ดังนั้น การจะใช้และมุ่งหวังผลประโยชน์จากการรวมกลุ่มได้อย่างเต็มที่ จึงมีความจำเป็นต้องทำให้ประชากรของแต่ละประเทศ มีการเพิ่มพูนทักษะความรู้ในทุกด้านรวมถึงการแลกเปลี่ยนและเรียนรู้พฤติกรรมซึ่งกันและกันด้วย หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งว่าจำเป็นต้องพัฒนาประชากรให้มีคุณภาพนั่นเอง  
                                การศึกษาจึงมีบทบาทสำคัญยิ่งต่อการพัฒนา เตรียมความพร้อมและผลิตบุคลากรในประเทศให้เป็นประชากรที่มีคุณภาพ  ดังนั้นการศึกษาก็จำเป็นต้องพัฒนาเช่นกัน ทีนี้เราลองหันกลับมามองการศึกษาของประเทศไทยบ้างว่า ปัจจุบันการศึกษาของไทยเรามีสภาพอย่างไร เมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียนแล้วเราอยู่ลำดับที่เท่าไร จากการเผยแพร่ข้อมูลของศูนย์วิจัยกสิกรไทย : กรกฏาคม 2555  ที่มา: IMD World Competitiveness Yearbook 2011 เปรียบเทียบข้อมูลด้านการศึกษาของประเทศไทยและประเทศสมาชิกอาเซียน ดังนี้                         
รายการ
อินโดนีเซีย
สิงคโปร์
มาเลเซีย
ฟิลิปปินส์
ไทย
1.งบประมาณด้านการศึกษาต่อGDP (%)
1.5
3.3
7.2
2.7
4.6
 2.สัดส่วนนักเรียนต่อครูระดับประถม 1 คน
17.48
21.40
14.3
33.67
15.99
 3.สัดส่วนนักเรียนต่อครูระดับมัธยม 1 คน
11.96
17.90
14.50
35.13
21.22
4. การทดสอบประเมินผล(คะแนน)*
 
 
 
 
 
 - คณิตศาสตร์
371
562
Na.
Na.
419
 - วิทยาศาสตร์
383
542
Na.
Na.
425
5.คะแนนการทดสอบทางด้านภาษาอังกฤษ (TOEFL)
78
98
88
88
75

                               

นอกจากข้อมูลดังกล่าวข้างต้นแล้วยังมีข้อมูลที่น่าสนใจอีกเช่น  สถิติการอ่านหนังสือของเยาวชน
(เด็กอายุ 6-12 ปี) ในรอบ 1 ปี พบว่า เยาวชนในประเทศเวียดนามอ่านหนังสือ 60 เล่มต่อปี สิงคโปร์ 45 เล่มต่อปี  มาเลเซีย 40 เล่มต่อปี และประเทศไทย 5 เล่มต่อปี   (ที่มา :  สำนักงานสถิติแห่งชาติ  2554 )
และเสริมด้วยข้อมูลด้านสาธารณสุข ( ที่มา :  Asia Connect ธันวาคม 2555) พบว่า   
สัดส่วนจำนวนแพทย์ ต่อประชากร 10,000 คน
                                1.ประเทศสิงคโปร์              แพทย์ 15 คน ต่อประชากร 10,000 คน
                                2.ประเทศฟิลิปปินส์           แพทย์ 12  คน ต่อประชากร 10,000 คน
3.ประเทศบรูไน                  แพทย์ 11  คน ต่อประชากร 10,000 คน
4.ประเทศไทย                      แพทย์ 3  คน ต่อประชากร 10,000 คน
                                สัดส่วนจำนวนพยาบาล ต่อประชากร 10,000 คน
1.ประเทศบรูไนและฟิลิปปินส์        พยาบาล 61 คน ต่อประชากร 10,000 คน
2.ประเทศสิงคโปร์              พยาบาล 42 คน ต่อประชากร 10,000 คน
3.ประเทศมาเลเซีย              พยาบาล 18 คน ต่อประชากร 10,000 คน
4.ประเทศไทย                      พยาบาล 14 คน ต่อประชากร 10,000 คน
จากสถิติ ข้อมูลการเปรียบเทียบดังกล่าวข้างต้นซึ่งนำมาเพียงไม่กี่ตัวอย่างจะเห็นได้ว่าประเทศไทย
ก็เป็น 1 ใน 10 ของประเทศกลุ่มสมาชิกอาเซียน แต่เป็น 1 ในลำดับที่ไม่ค่อยจะน่าพอใจนัก  เหลือเวลาอีกเพียงประมาณ 2 ปีเท่านั้น  ที่รัฐบาล  กระทรวงศึกษาธิการ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง นักการศึกษา บุคลากรทางการศึกษาและทุกภาคส่วนของสังคมจะต้องผนึกกำลังร่วมมือกันอย่างจริงจังเสียทีในการเร่งดำเนินการพัฒนามาตรฐานการศึกษาไทย พัฒนาทักษะความรู้ความสามารถ  ทักษะความเชี่ยวชาญด้านต่าง ๆ เพื่อคุณภาพของประชากรไทยและคุณภาพของเด็กไทยเพื่อการก้าวเข้าไปมีบทบาทเป็นหนึ่งในศูนย์กลางด้านการศึกษาที่สำคัญของภูมิภาคอาเซียนต่อไป
...............................................
 เขียนโดย ชีวพร สุริยศ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น