วันพฤหัสบดีที่ 10 มกราคม พ.ศ. 2556

ความรุนแรงในเด็กและสตรี สังคมไทย! ใช่หรือ?


ความรุนแรงในเด็กและสตรี สังคมไทยใช่หรือ?
                                                            อุดม   พรมแก้วงาม ประธาน ก.พ.ท.สพป.ลำปาง เขต 1
...............................
            “ไทยติดอันดับใช้ความรุนแรงในเด็ก และสตรี”  เป็นพาดหัวบทความจากหนังสือพิมพ์เดลินิวส์ ฉบับประจำวันอังคารที่ 4 ธันวาคม 2555 ในบทความนั้นยกกรณีตัวอย่างของเด็กนักศึกษาสาวอายุ 17 ปี ซึ่งเป็นนักศึกษาฝึกงานในโรงแรมแห่งหนึ่งในจังหวัดเชียงใหม่ ถูกเพื่อวัยรุ่นชวนให้ดื่มสุรา แล้วมอมยา หลังจากนั้นเมื่อสติขาดหายไปก็ถูกข่มขืน และเสียความบริสุทธิ์
            บทความดังกล่าวยังนำเสนออีกว่า “จากการเปิดเผยของกรมสุขภาพจิตว่า ในช่วง 5 ปี ที่ผ่านมาสถานการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นกับผู้หญิงมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยระบุว่า ตั้งแต่เดือนมกราคม – 13 พฤศจิกายน 2555 มีผู้หญิงที่ถูกกระทำรุนแรงขอเข้ารับบริการ จำนวน 731 ราย จำแนกเป็นความรุนแรงในครอบครัว 593 ราย,ความรุนแรงทางเพศ 85 ราย,ท้องไม่พร้อม 22 ราย,ค้ามนุษย์ 3 ราย,คลิปวิดีโอ 7 ราย และต้องหางานเพราะสามีทอดทิ้ง 21 ราย
            ทั้ง 6 กรณีที่จำแนกดังกล่าวจะเห็นว่า ความรุนแรงดังกล่าวเกิดในครอบครัวมากที่สุด คิดเป็น 81.12% ซึ่งหากสถิติเป็นเช่นนี้ก็น่าเป็นห่วงว่า ครอบครัวคนไทยวันนี้ทำไมถึงเป็นเช่นนี้ ความรัก ความอบอุ่น ความเกื้อกูล หดหายไปไหน ทำไมถึงต้องเกิดเหตุทารุณกรรมกันภายในครอบครัวขนาดนี้ แม้สถิติดังกล่าวจะใช้ตัวเลขเพียงไม่ถึงปี แต่ก็ทำให้น่าตกใจกับบรรยากาศในครอบครัวคนไทยเราเสียแล้ว บทความดังกล่าวยังได้ขยายความอีกว่า รูปแบบความรุนแรงมีทั้งความรุนแรงทางด้านร่างกายด้วยการทุบตีทำร้ายร่างกาย ตบ เตะ ต่อย และใช้อาวุธ ความรุนแรงทางด้านจิตใจ ด้วยดารใช้คำพูด กิริยา ด่าทอ บังคับ ขู่เข็ญ กักขัง หน่วงเหนี่ยว ฯลฯ และความรุนแรงทางเพศด้วยการ การละเมิดทางเพศ การจับต้องของสงวน การบังคับเปลื้องผ้า เป็นต้น
            ปรากฏการณ์เช่นนี้ ผู้คนในวงการศึกษาน่าจะอยู่นิ่งไม่ได้เสียแล้ว จะปล่อยให้เป็นไปตามกระแสสังคม กระแสเศรษฐกิจที่บีบรัดไม่ได้แล้ว เราคงต้องหันมาให้ความสำคัญของการจัดการศึกษาทั้งในระบบและนอกระบบโรงเรียน แก่ครอบครัว เพื่อลดความรุนแรง ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของคนในครอบครัว สร้างบรรยากาศในครอบครัวให้อบอุ่น ดูแลลูกหลานและคนในครอบครัว เพื่อให้เกิดความสำนึก ความรับผิดชอบ ด้านจิตใจมากกว่าการสร้างมาตรการและกลไกคุ้มครอง เช่น การออกกฎหมายบังคับ ซึ่งใช่หรือ กับสังคมไทย
            แล้วท่านคิดอย่างไรกับเรื่องนี้. ......................     

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น