วันพฤหัสบดีที่ 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

ความเป็นคนดีเกิดขึ้นได้อย่างไร ?


ความเป็นคนดีเกิดขึ้นได้อย่างไร ?
   โดย.....เบญจมาศ   พานิชพันธ์
          การเป็นคนดีที่รู้จักห่วงใยและช่วยเหลือผู้อื่น  มีองค์ประกอบสำคัญ  3  ประการ  ที่ทำให้เกิดความเป็นคนดี  คือ
                1.  สมองต้องเป็นปกติ  และมีพัฒนาการตามปกติ  ถ้าสมองถูกทำลายไปบางส่วน จะมีผลกระทบต่อความสามารถในการตอบสนองต่อความรู้สึกของผู้อื่น
                2.  เด็กต้องเติบโตขึ้นในสังคมที่ให้คุณค่ากับความเมตตากรุณา  แต่ละสังคมมีกฎควบคุมพฤติกรรมที่เรียกว่า  บรรทัดฐานทางสังคม  ซึ่งมีอิทธิพลสูงในสังคมที่ผูกพันกันอย่างเหนียวแน่น  เช่น  การช่วยเหลือผู้ตกทุกข์ได้ยาก
                3.  พ่อแม่เป็นผู้มีบทบาทสำคัญที่สุดในการสร้างลูกให้เป็นคนดี  คนที่ยอมเอาตัวเข้าเสี่ยงเพื่อช่วยเหลือผู้อื่น  มักมีพ่อแม่ที่มีบรรทัดฐานทางศีลธรรมสูง  และเติบโตมาในครอบครัวที่มีบรรยากาศของการพูดคุยเรื่องความรับผิดชอบชั่วดีกันอย่างเปิดเผย  และบ่อยครั้ง  อย่างไรก็ตามการพูดคุยกับลูกในเรื่องการทำดีเพื่อผู้อื่นอย่างเดียวนั้นคงไม่พอ  พ่อแม่ต้องปฏิบัติตามสิ่งที่ตัวเองพร่ำสอนด้วย  มิฉะนั้นลูกจะเรียนรู้ความหน้าไหว้หลังหลอกมากกว่าการเห็นแก่ประโยชน์ผู้อื่นอย่างแท้จริง
การช่วยเหลือผู้อื่นดีต่อตัวเราอย่างไร  ?
                ความรู้สึกอบอุ่นที่ได้รับเมื่อเราทำให้ผู้อื่นรู้สึกดีนั้น  จะทำให้ชีวิตของเรายืนยาวขึ้น  การช่วยเหลือผู้อื่นจะช่วยบรรเทาความซึมเศร้า  และช่วยเพิ่มพลังและความกระตือรือร้นมากขึ้น  คนที่ทำงานอาสาสมัครส่วนใหญ่พูดถึง  ความรู้สึกสุขสงบ”  เมื่อได้ช่วยเหลือผู้อื่น  แบบเดียวกับความรู้สึกเคลิ้มสบายที่เกิดขึ้นกับนักวิ่งขณะวิ่งออกกำลัง  การช่วยเหลือผู้อื่นก็เหมือนการออกกำลัง  คือทำให้สมองและร่างกายสงบลง  และอาจช่วยลดความเครียดได้โดยการเรียนรู้ที่จะระงับความโกรธ  และความกระวนกระวายใจ



การทำความดีก่อให้เป็นคนดี
                ความดีหมายถึงสิ่งที่ทำแล้วมีความสบายใจ  เป็นประโยชน์แก่ผู้อื่น  และแก่ตนเอง  โดยไม่เบียดเบียนตนเองและผู้อื่นด้วย  ความดีทั้งหลายมักมีพื้นฐานมาจากความรัก  ความเมตตา  ความปรารถนาดีแก่ผู้อื่น  ความดีทำได้ง่ายมีหลายอย่าง  หลายวิธี  เช่น  การทำทานให้สิ่งของแก่ผู้อื่น  ให้การช่วยเหลือ  ให้การแนะนำ  ให้ความรู้ที่ถูกต้องแก่ผู้อื่น  การให้อภัยต่อกันและกัน  การแสดงความกตัญญูต่อผู้มีพระคุณ  การช่วยเหลือสังคม  การทำงานส่วนรวม  การปกป้องรักษาธรรมชาติอันเปรียบเสมือนมารดาของทุกสรรพสิ่ง  การรักและเมตตาต่อสัตว์ทั้งหลาย  การมองผู้อื่นในแง่ดี  และอีกหลายๆ  อย่างที่ทำให้เรารู้สึกอิ่มใจ  สบายใจ  ผลแห่งการทำความดี  จะทำให้ผู้กระทำรู้สึกอิ่มเอิบ  ชื่นใจ  มีความสุข  ส่วนผู้ที่ได้รับผลจากกระทำของเรา  ก็มีความสุข  ความยินดี  เช่นกัน  จึงเป็นสิ่งที่นำมาซึ่งความสงบเย็น  ชุ่มฉ่ำ  เอื้อเฟื้อแก่สังคม  และโลกอย่างมาก
                ผลของการทำความดีต่อผู้อื่น  และสังคม  จะให้ผลหลักๆ  2  ทางใหญ่ๆ  คือ
                1.  ผู้ที่มีมากกว่ารู้จักเมตตาช่วยเหลือ  จุนเจือ  แบ่งปันให้ผู้ที่มีน้อยกว่า  แทนการเห็นแก่ตัวเก็บไว้ใช้คนเดียวอย่างฟุ่มเฟือย  เมื่อผู้ที่แข้งแรงกว่ารู้จักช่วยเหลือเกื้อกูลผู้ที่อ่อนแอกว่าแทนการกลั่นแกล้ง  เอารัดเอาเปรียบ  สังคมโลกก็จะมีแต่ความสุข  สงบ
                2.  เมื่อคนที่รู้จักที่จะให้ผู้อื่น  เมตตาผู้อื่น  รู้จักทำความดีงาม  จิตใจก็จะถูกเติมด้วยความดีงาม  ลดความเห็นแก่ตัว  แต่เห็นแก่ผู้อื่นมากขึ้น  และเห็นคุณค่าในตนเอง  และในเพื่อนมนุษย์ด้วยกันมากขึ้น
                ปราชญ์และผู้รอบรู้ทั้งหลาย  ไม่ว่าจะเป็นพระพุทธเจ้า  พระเยซู  พระอัลเลาะห์  หรือศาสดาใดๆ ในโลก  ก็ล้วนแต่สอนและเน้นให้มนุษย์เรารู้จัก  มอบความรัก  ความเมตตาให้แก่กัน  สอนให้รู้จัก ทำความดี  ให้กับสังคม  และโลกกันทั้งนั้น  เพราะต้องการให้เราทุกคน  จงเป็น  คนดี  นั่นเอง

พุทธศาสนสุภาษิต
คนดี...ใช่ดูที่ภายนอก
น  วากฺกรณมตฺเตน   วณฺณโปกฺขรตาย วา
สาธุรูโป  นโร  โหติ  อิสฺสุกี  มัจฺฉรี  สโฐ.
เพราะเหตุเพียงพูดจาคล่องแคล่ว หรือเพราะมีผิวพรรณงาม  แต่ยังมีความริษยา
ตระหนี่ และโอ้อวด บุคคลนั้นก็หาชื่อว่าคนดีได้ไม่


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น