วันจันทร์ที่ 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

ทำงานอย่างไรที่เรียกว่าฉลาดทำ

ทำงานอย่างไรที่เรียกว่าฉลาดทำ
โดย.....อาจารย์ เบญจมาศ พานิชพันธ์   

สำหรับหลายคนปัญหาใหญ่คือมีงานมากแต่มีเวลาทำน้อยเกินไป ทางออกหนึ่งได้แก่ ใช้ทักษะในการบริหารเวลา ใช้เวลาการทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ ไม่ว่าตารางเวลาจะแสนยุ่งแค่ไหน จำนวนชั่วโมงก็ยังคงมีอยู่เท่าเดิม แต่การเปลี่ยนนิสัยเป็นเรื่องทำได้ แล้วคุณจะสามารถซื้อเวลาให้กับสิ่งที่สำคัญกับตัวคุณได้มากขึ้น
                1. วางแผนอย่างสม่ำเสมอ  ทุกคืนตรวจรายการสิ่งที่ต้องทำ โครงการและธุระที่ยังทำไม่เสร็จ ทบทวนรายการและจัดลำดับความสำคัญ กะเวลาที่คุณต้องการ  สำหรับทำกิจกรรมแต่ละอย่างให้แล้วเสร็จ หาปฏิทินบันทึกแสดงเวลาของทั้งสัปดาห์
                2. ลำดับความสำคัญ  คุณต้องคิดว่าส่วนไหนในงานของคุณ ที่มีค่ามากที่สุดสำหรับคุณ  แล้วทุ่มเทเวลาและพลังงานส่วนใหญ่ไปในการทำงานส่วนนั้น
                3. ขีดเส้นตายให้โครงการสำคัญ  มุ่งความตั้งใจไปที่การเริ่มทำงานไม่ใช่จบงาน แบ่งโครงการใหญ่ ๆ ออกเป็นส่วน ๆ ทำไปทีละส่วน กำหนดวันเสร็จสิ้นของงาน และต้องทำให้ทันตามกำหนด และต้องได้คุณภาพสมบูรณ์แบบ
                4. แบ่งงานออกไป  ผ่านงานให้คนอื่นทำบ้าง จ้างเด็กมาช่วยทำงานบ้าน จ้างคนทำสวนมาช่วยตัดหญ้า
                5. จัดเวลาที่มีสมาธิที่สุด  จัดเวลาช่วงหนึ่งในแต่ละวันให้ปลอดจากการถูกรบกวน ใช้ช่วงเวลานั้นทำสิ่งสำคัญที่สุดของวันนั้นให้แล้วเสร็จ
                6. จัดระบบให้ดีไว้ตลอดวัน  จำกฎข้อนี้ให้ขึ้นใจ บริหารเวลาให้ดี แบ่งงานออกไป  หรือไม่ก็แบ่งให้คนอื่นดูแลแทน  ถ้าเป็นเรื่องที่ไม่เกี่ยวข้องหรือเป็นเรื่องที่คุณจะไม่กลับไปดูอีกให้ทิ้งลงถังขยะไปเลย
                7. ออกสังคมที่ทำงานบ้าง  การพูดคุยช่วยสร้างความสัมพันธ์ และช่วยให้เราสานสัมพันธ์กับเครือข่ายงานอยู่เสมอ เช่น พูดคุยแลกเปลี่ยน เรื่องโจ๊ก ขำขัน หรือเรื่องราวส่วนตัวขณะรอเข้าห้องประชุม หรือช่วงพักกลางวันหรือพักเบรค
                8. พูดหรือตอบโทรศัพท์ตามเวลาที่กำหนดไว้  จัดเวลาช่วงหนึ่งของวันประมาณครึ่งชั่วโมง ช่วงบ่ายเป็นเวลาโทรศัพท์ บอกให้คนอื่นทราบว่า เวลานี้เป็นช่วงเวลาที่ติดต่อคุณได้ดีที่สุด และสะดวกที่จะโทรศัพท์กลับไปหาหรือติดต่อกลับ อีกฝ่ายจะได้คอยฟังหรือรับสายจากคุณ ตามช่วงเวลานั้น ๆ และ ไม่รบกวนคุณมากเกินไปในช่วงเวลาอื่นระหว่างวัน
                9. ยืดหยุ่นบ้าง   การวางแผนอย่างรอบคอบของคุณจะไม่มีประโยชน์เลย ถ้าคิดว่าตัวคุณเองไม่สามารถเปลี่ยนแปลงกำหนดการในตารางเวลาที่ตั้งไว้ได้   คุณอาจต้องใช้เวลาบางส่วนจัดการกับวิกฤตการณ์หรือเรื่องเร่งด่วน หรือคุณอาจจะกำลังติดลมกับการเขียนแผนงาน ซึ่งไม่มีเหตุผลที่จะหยุดเขียนเพียงเพราะจัดเวลาสำหรับงานนี้ไว้แค่ชั่วโมงเดียว แทนที่จะเป็นอย่างนั้น ควรฝึกการผลัดผ่อน  ที่เป็นผลดี เช่น ถามตัวเองว่า การเลื่อนงานที่ต้องทำในรายการถัดไปออกไปสักหน่อย และทำเรื่องที่ค้างอยู่นี้ต่อ เป็นการตัดสินใจที่ฉลาด หรือเป็นแค่ลูกเล่นที่จะอู้งานกันแน่
                10. เริ่มวันทำงานให้เหมาะ  ควรเริ่มตั้งแต่ที่บ้านเลย หลังอาหารมื้อเย็นที่คุณต้องง่วนอยู่ในครัวอยู่แล้ว ให้เตรียมอาหารมื้อกลางวันของวันรุ่งขึ้นไปพร้อมกัน เตรียมเสื้อผ้าของลูกและของตัวคุณไว้ล่วงหน้า  จัดกระเป๋าเอกสาร  และใช้เวลาก่อนนอนที่หมดเรื่องกังวล  แล้วพักผ่อนหรือทำสิ่งที่ชอบ
                นานาสารัตถะ... ฉบับนี้คงทำให้ผู้ที่มีงานต้องทำมาก ๆ จะสามารถต่อสู้กับความเครียดจากงานได้หลายด้าน ทำงานเป็นผลมากขึ้น  และไม่รู้สึกว่าตนเองทำงานหนักเลย

พุทธศาสนสุภาษิต
รู้กาลทำกิจ  ประโยชน์ก็สมบูรณ์
โย ทนฺธกาเล  ทนฺเธตี  ตรณีเย  จ  ตารยิ
สสีว  รตฺติ  วิภชํ   ตสฺสตฺโถ  ปริปูรติ.
ผู้ใดในคราวที่ควรทำช้าๆ  ก็ค่อยๆทำอย่างช้าๆ
ในคราวที่ควรทำรีบด่วน   ก็รีบทำอย่างเร็วพลัน
                                                   ประโยชน์ของผู้นั้นก็บริบูรณ์ 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น