เสน่ห์หลวงน้ำทา
โดย อุดม พรมแก้วงาม
......................
หลายเมืองใน สปป.ลาว
เป็นเมืองที่ใฝ่ฝันจะได้มีโอกาสไปเยือน
เช่น วังเวียง อุดมไชย จำปาศักดิ์ ทุ่งไหหิน เชียงขวาง หัวพัน ซำเหนือ ปากซัน ปากเซ และอีกหลายๆเมือง
รวมถึงหลวงน้ำทาด้วย และครั้งนี้ก็ได้มีโอกาสเข้าไปเยี่ยมยามในตัวเมืองหลวงน้ำทา
เพราะครั้งก่อนๆ ก็เพียงแต่ผ่านนอกเมือง แต่ครั้งนี้มุ่งตรงหลวงน้ำทา
โดยเดินทางร่วมกับคณะเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาลำปาง เขต 2
เริ่มต้นการเดินทางจากลำปางเช้าวันที่
23 พฤษภาคม 2556 ตอนตี 5 ด้วยรถยนต์ตามเส้นทาง ลำปาง-เชียงราย
โดยแวะพักรถและพักคนที่วัดร่องขุ่น
อำเภอเมืองเชียงรายก่อนเดินทางเข้าอำเภอเวียงชัย อำเภอพญาเม็งราย
ผ่านไปทางบ้านผางาม อำเภอเวียงแก่น และไปโผล่บ้านป่างิ้วใกล้ๆ
โรงเรียนเชียงของวิทยาคม ถึงเชียงของก็เกือบเที่ยง แวะรับประทานอาหารกลางวันที่
โรงแรมแม่โขง รีเวอร์ไซด์ ก่อนเดินทางข้ามเรือไปยังแขวงบ่อแก้ว สปป.ลาว
1 สภาพบริเวณวัดร่องขุ่น 2
ทิวทัศน์แม่น้ำโขงมองจากร้านอาหารฝั่งไทย
เส้นทาง R-3A
เป็นเส้นทางที่เดินทางในครั้งนี้โดยรถยนต์ของ สปป.ลาว ระยะทาง 175
กิโลเมตร ใช้เวลาเดินทางประมาณ 4 ชั่วโมง เป็นถนนลาดยาง 2 เลน เส้นทางจะคดเคี้ยวไปตามไหล่เขา
รถวิ่งสวนกัน โดยรถจะแวะจอดจุดที่พักรถที่
“ขัวน้ำฟ้า” ให้พวกเราได้ยืดเส้นยืดสายกัน
พอรถจอดพวกเราก็เจอเสน่ห์ธรรมชาติคือเนื้อสัตว์ป่า เช่น เก้ง กวาง
โดยพวกเราหลงเสน่ห์เนื้อเก้งกันและหลายๆ คนเตรียมน้ำพริกลาบมาพร้อม
ก็เลยกินลาบเก้ง พร้อมเบียร์ลาว
ก่อนออกเดินทางต่อก็ซื้อเนื้อย่างติดตัวมาอีกเพื่อมาแกงในมื้อเย็น
สิ่งหนึ่งที่สังเกตได้คือ แม้ว่าจะมีการล่าสัตว์แต่วิธีการก็เป็นวิธีการพื้นบ้าน
อาวุธและเครื่องไม้เครื่องมือก็ไม่มีประสิทธิภาพสูงนัก
และที่สำคัญคือประชากรเขาน้อย ผู้คนที่ทำมาหากินด้านนี้ก็ไม่มาก
แต่ก็จำเป็นที่จะต้องดูแลเรื่องการอนุรักษ์กันต่อเพราะในอนาคตจะเป็นปัญหา
3 จุดจอดรถที่ขัวน้ำฟ้า 4
อีกมุมหนึ่งของจุดจอดรถขัวน้ำฟ้า
อีกชั่วโมงเศษจากที่พักรถขัวน้ำฟ้า
เราก็ถึงหลวงน้ำทาก็เกือบ 6 โมงเย็น จุดแรกที่ไปแวะก่อนอาหารเย็นคือ Night
Market เพราะหากเลยเวลานี้ไปแล้วตลาดก็จะวาย
ที่ตลาดนี้จะจำหน่ายประเภทอาหารเป็นหลัก เป็นผลผลิตจากท้องถิ่น
ผู้คนที่มาจับจ่ายส่วนใหญ่จะเป็นนักท่องเที่ยว ซึ่งที่ตลาดนี้มีเสน่ห์สำหรับนักท่องเที่ยวประเภท
Back Pack จากยุโรป อาหารที่จำหน่าย เช่น ข้าวโพดต้ม
ทั้งต้มเป็นฝัก และแกะเมล็ดให้พร้อมกิน อาหารการกินพื้นบ้าน ข้าวเหนียว
กล้วยปิ้งซึ่งจะแตกต่างจากบ้านเราโดยเขาจะปิ้งกล้วยสุกเป็นลูก
พอสุกแล้วก็ผ่าครึ่งแล้วเอามะพร้าวอ่อนคลุกเกลือ และน้ำตาลยัดไส้ รสชาติก็อร่อยดี
5 ตลาด Night
Market 6
สินค้าที่ขายในตลาด
เกือบชั่วโมที่พวกเราหลงเสน่ห์อาหารพื้นบ้านที่ตลาด
หรืออาจจะเพราะความหิวก็ได้ที่ทำให้พวกเรากินเอากินเอาโดยลืมนึกว่าต้องมีรายการอาหารเย็นอีก
เราต้องนั่งรถย้อนออกมายังถนนสายหลักเพราะบริษัทจัดอาหารไว้รอพวกเราที่นั่น
อาหารเย็นวันนี้ก็เป็นอาหารโดยทั่วไปที่คนไทยกินกัน
ทั้งต้ม ยำ ผัด ลาบ อีกทั้งอาหารเสริมประเภทอาหารป่า ทั้งลาบและแกงอ่อม
คลุกเคล้าด้วยเสียงเพลงที่พวกเราเปลี่ยนกันไปขับกล่อมกันเอง
และบริษัทก็จัดกิจกรรมสร้างบรรยากาศด้วยการมอบรางวัลแก่ผู้มีชัยเพื่อไปให้ถึง
”สวรรค์หลวงน้ำทา” ในลักษณะเชิงสร้างสรรค์ เป็นเงิน 2,000 กีบ/ราย
เพื่อเป็นค่านั่งรถสามล้อกลับโรงแรม
จากนั้นก็นำคณะเข้าที่พัก
โดยเข้าพักที่โรงแรมโรแยลหลวงน้ำทาเกือบ 3 ทุ่ม
เมื่อเชคอินแล้วต่างก็เข้าห้องพักเพราะต่างก็เหน็ดเหนื่อยกับการเดินทาง
อากาศที่นี่ค่อนข้างเย็นขณะที่เรานั่งร้านอาหารก็ต้องหาเสื้อผ้าที่ให้ความอบอุ่นอยู่ตลอดเวลา
ดังนั้นเมื่อเราพักในที่พักอากาศก็ค่อนข้างเย็น โดยนัดหมาย 6-7-8
แต่พอรุ่งเช้าด้วยที่ได้พักเต็มอิ่ม ตี 5 กว่าๆ เราก็ตื่น
ทำธุระเสร็จก็ออกไปเดินตลาดซึ่งอยู่ที่หน้าโรงแรม
7 โรงแรมที่พัก 8
สภาพชุมชนหลาวงน้ำทา มองจากห้องพักในโรงแรม
เสน่ห์ของตลาดหลวงน้ำทาคือ
ความเป็นตลาดพื้นบ้าน (Local Market)
หลายคนที่เดินผ่านกลับไปบอกว่าไม่ต้องไป ไม่มีอะไร
แต่โดยธรรมชาติของการศึกษาวิถีชีวิตแล้ว ตลาดจะอธิบายเศรษฐกิจ สังคม วิธีคิด และอีกหลายๆ
เรื่องของชุมชนได้อย่างดี เสน่ห์ที่นี่คือความเรียบง่าย ความเป็นธรรมชาติ
ไม่ต้องปรุงแต่ง ในลักษณะ “มาอย่างไร ไปอย่างนั้น”
ดังนั้นสินค้าที่วางขายก็จะเป็นของที่จำเป็นสำหรับชีวิตโดยเน้นที่อาหาร
ผักจากธรรมชาติที่เป็นของป่า อาทิ
หน่อไม้ขม หน่อหวาย บอน รวมไปถึงสัตว์ป่าที่หาได้จากการไล่ล่า เช่น นก ไก่ป่า เก้ง
กวาง งู ตุ่น เม่น สัตว์ต่างๆ เหล่านี้ล้วนแต่เป็นสัตว์ที่หายากมากในบ้านเรา
และนอกจากนี้ยังมีการจำหน่ายเนื้อสุนัขด้วย
โดยการชำแหละให้เสร็จพร้อมต้องโชว์หัวให้เห็นด้วย เพราะมิฉะนั้นก็คงจะเป็นของปลอม
พอเดินตลาดจนได้เวลานัดก็เดินทางออกมารับประทานอาหารเช้าที่ร้านเดิมเมื่อเย็นวานนี้
อาหารเช้านอกจากจะเป็นประเภทข้าวต้ม กาแฟ และน้ำผลไม้แล้ว ลาบ และอ่อมเก้ง
สืบเนื่องจากเช้านี้หลายคนซื้อหาติดไม้ติดมือเพื่อเข้าบ้านอีก
และก็แบ่งมาปรุงเลี้ยงดูกัน เมื่ออิ่มกันเรียบร้อยแล้วต่างก็ขึ้นรถเพื่อเดินทางกลับตามเส้นทางเดิม
โดย “ขัวน้ำฟ้า” ก็ยังเป็นจุดพักการเดินทางเช่นเดิม
และที่นี้พวกเราก็ยังหาของฝากติดไม้ติดมือกันโดยเฉพาะเนื้อเก้ง กาแฟลาวที่ชื่อ
“ดาว” เป็นกาแฟอาราบิก้าจากไร่กาแฟดาวเรือง บนที่ราบสูงบอละเวน
และพื้นที่ปลูกสูงจากระดับน้ำทะเล 1,200 เมตร
ปลูกบนดินที่เกิดจากปรากฏการณ์ธรรมชาติ คือดินจากภูเขาไฟ
ด้วยวิธีการปลูกแบบธรรมชาติ
9
ตลาดยามเช้าเมืองหลวงน้ำทา
10
สินค้าหลากหลายที่ค้าขาย
เมื่อพอสมควรแก่เวลาก็ออกเดินทางต่อ
จนเวลาล่วงเลยถึง 11 น. ก็ถึงห้วยทราย
และให้เวลาในการจับจ่ายที่ตลาดอินโดจีนที่ฝั่งห้วยทราย
ส่วนใหญ่ก็จะเป็นสินค้าจีนที่พ่อค้าจีนมาเปิดตลาดทำการค้าเพื่อรองรับสะพานข้ามน้ำโขงแห่งที่
4 และ AEC
อีกด้วย พวกเราต่างก็หาซื้อเครื่องมือทำมาหากินกัน ทั้งเลื่อย สว่าน
มือถือ ไพ่
บ้างก็ได้เครื่องเสียงชุดเขื่องเพื่อนำไปใช้สนับสนุนจัดกิจกรรมในโรงเรียน
พอได้ข้าวของครบกันถ้วนหน้าก็มารับประทานอาหารกันที่ร้านอาหารห้วยทรายก่อนอำลา
สปป.ลาว
เมื่อเรียบร้อยแล้วก็พากันมาที่ท่าเรือ
บ้างก็แวะที่ร้านค้าปลอดภาษีเพื่อยังหาของฝากที่ยังขาดไป แล้วก็ข้ามฟาก
เมื่อเราข้ามถึงฝั่งไทยแล้วรถก็มารออยู่ที่ด่านเพื่อรับคณะเราเพื่อเดินทางต่อ
โดยเป้าหมายอยู่ที่แม่สาย ไปตามเส้นทาง เชียงของ-กิ่วกาน-บ้านแซว-เชียงแสน-(กอรวก)สามเหลี่ยมทองคำ-แม่สาย
โดยใช้เวลาเดินทางเกือบ 2 ชั่วโมงถึงแม่สาย
เส้นทางนี้เคยเดินครั้งแรกเมื่อประมาณปี 2523 เป็นเส้นทางอันตราย
เป็นทางสายยุทธศาสตร์ โดยเฉพาะบริเวณกิ่วกาน เป็นทางแคบๆ ขึ้น-ลงเขา ทางลำบาก
ขนาดรถแลนด์โรเวอร์ยังทำท่าจะติดหล่ม และต้องใช้เวลาเกือบ 4
ชั่วโมงจึงจะถึงเชียงแสน วันนี้เพียง 2 ชั่วโมงเท่านั้นก็ถึงแม่สาย
และโดยเฉพาะทางช่วงเชียงแสน-แม่สาย เริ่มเปิดเป็น 4 ช่องจราจร
เพื่อรองรับสะพานแม่สาย-ท่าขี้เหล็ก เมื่อถึงแม่สายตอน 4 โมงครึ่ง
เปิดโอกาสให้พวกเราได้เดินแม่สาย 1 ชั่วโมง และทางบริษัทได้เตรียมหนังสือผ่านแดนไว้ให้พร้อม
1 ชั่วโมง สำหรับการเดินชายแดนแม่สาย
ถ้าเราไปบ่อยๆ ก็ดูจะพอดี ไม่น่าเบื่อ เพราะมิฉะนั้นก็เซ็ง
ยิ่งถ้าข้ามไปฝั่งท่าขี้เหล็กก็ต้องไปอย่างมีเป้าหมายกลับมาก็ยังพอมีเวลาดื่มกาแฟให้หายง่วงได้อีก
พอเลยเวลานัดหมายนิดหน่อย พวกเราก็พร้อมออกเดินทางกลับ
เป้าหมายอยู่ที่พะเยาเพื่อรับประทานอาหารมื้อเย็นที่ภัตตาคารแสงจันทร์ใกล้กว๊านพะเยา
2 ชั่วโมง สำหรับการเดินทางจากแม่สาย-พะเยา
ในยามเย็นโพล้เพล้ เป็นการเดินทางอย่างสบายๆ มีเรื่องคุยกันในเชิงสร้างสรรค์
บางเรื่องที่มีผลกระทบก็เป็นการวิพากย์ มิได้วิจารณ์
เพื่อให้วงสนทนาได้ใช้เป็นแนวคิดในการทำงานโดยเฉพาะการทำงานรับใช้สังคม
เราต้องการให้งานที่ทำเกิดจากจิตสำนึกภายในตัวตนมากกว่าการใช้การสั่งการเชิงนโยบาย
อันเป็นสุดยอดของการบริหารงาน บริหารคน บริหารเงิน และบริหารกิจการ
11
บริเวณด่านชายแดนแม่สาย
12
มุมหนึ่งของกว๊านพะเยา
ทุ่มครึ่งถึงพะเยา
กว๊านพะเยายังไม่หลับ แสงสี
และผู้คนต่างยืนรับไอเย็นจากน้ำพุเต้นระบำประกอบเพลงเหมือนที่สิงคโปร์ทำเมื่อ 10
กว่าปีก่อนแถวๆเซ็นโตซ่า แต่วันนี้เขาก็ก้าวกระโดดไปอีกระดับหนึ่ง
พะเยาวันนี้รอบกว๊านยังสดชื่น มีชีวิตชีวา
และสามารถพัฒนาเพื่อเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจได้อีกมาก ก็อยู่ที่การลงทุน
และส่งเสริม สนับสนุน จากทุกภาคส่วน
อาหารเย็นมื้อนี้ใช้เวลาค่อนข้างนานถึงชั่วโมงครึ่งเพราะมีเรื่องคุยกันเยอะ
แค่พอเริ่มจะคุยกันคนละเรื่องแล้วก็ออกเดินทางต่อ จากพะเยาถึงลำปาง 2
ชั่วโมงครึ่งเป็นเวลามาตรฐานสำหรับการขับขี่อย่างปลอดภัย ที่ทุกคนถึงบ้าน 5
ทุ่มนิดๆ
เสน่ห์หลวงน้ำทาเที่ยวนี้
ทั้งหลายทั้งปวงก็คือเสน่ห์ความเป็นธรรมชาติ ความเป็นวิถีชีวิต ความเรียบง่าย
ความไม่ปรุงแต่ง ความซื่อและความบริสุทธิ์ของชุมชน
ก็จะตราตรึงเป็นเสน่ห์หลวงน้ำทาตราบนานเท่านาน
....................
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น